ข้าวโพดรายได้ข้างถนน

Published กุมภาพันธ์ 5, 2012 by 5a20001

ข้าวโพดรายได้ข้างถนน

 

ทุกเช้าบ่าวยัณจะขับรถผ่านอำเภอเวียงสระ โดยใช้ถนนเส้นทาง 4035  เพื่อไปทำงานที่อำเภอพระแสง ระหว่างทางได้สังเกตเห็นข้าวโพด
ที่กำลังออกดอก ปลูกอยู่ระหว่างร่องยางพาราขนาดเล็กอยู่ข้างถนน ในเขตตำบลทุ่งหลวง อำเภอเวียงสระ จึงได้ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก และนึกในใจว่า ถ้าข้าวโพดออกฝัก จะมาแวะขอซื้อไปต้มฝากแม่สักหน่อย เพราะแม่ชอบกินข้าวโพดต้มมาก หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน นอกจากไร่ข้าวโพดที่มองอยู่ทุกเช้าแล้ว ยังมีขนำหลังเล็กๆซึ่งสร้างจากเศษไม้ มุงด้วยกระเบื้องเก่าๆ  ตั้งอยู่ใกล้ๆไร่ข้าวโพด ภายในขนำมีผู้หญิงวัยกลางคน กำลังปอกเปลือกข้าวโพด ขายให้กับลูกค้าที่แวะมาซื้อข้าวโพด

 

 

 

 

พี่วรรณา  อายุ 49 ปี   ชาวบ้านตำบลทุ่งหลวง อำเภอเวียงสระ
จังหวัดสุราษฏร์ธานีเล่าให้ฟังว่า ตนและสามีอาศัยอยู่บ้านควนร่อน เดิมทีประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยางพาราของพี่สาว มีรายได้เดือนละ
7,000 – 8,000 บาท   ต่อมาเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว พี่สาวได้ขายไม้ยางพารา ในสวนที่ตนรับจ้างกรีด  จึงทำให้ตนและสามีไม่มีอาชีพ  เมื่อพี่สาวไถที่
และปลูกยางพาราใหม่แล้ว ทำให้พื้นที่บริเวณร่องยางพาราเตียนโล่ง
เหมาะแก่การปลูกผัก ตนจึงได้ปลูกผักสวนครัวเพื่อไว้กินในครอบครัวบนที่ดินของพี่สาว  หลังจากปลูกผักสวนครัวได้ผลดี พอกินในครอบครัวและมีเหลือขายได้กำไรบ้าง  ต่อมาก็ได้ปลูกมันเทศ และปลูก ข้าวโพด เพิ่มเติม บนพื้นที่ๆยังว่างอยู่  เมื่อข้าวโพด สามารถเก็บขายได้ สามีไปติดต่อแม่ค้า
ในตลาดบ้านส้องเพื่อให้มาเหมาซื้อข้าวโพด แต่เมื่อไปติดต่อปรากฏว่า
แม่ค้าให้ราคาข้าวโพดที่สวยฝักละ 3 บาท และฝักไม่สวยเหมาซื้อฝักละ
1 บาท สามีของตนจึงไม่ได้ขายเพราะ เห็นว่าให้ราคาต่ำเกินไป  ถ้าขาย
คงจะไม่คุ้ม ตนและสามีจึงได้ช่วยกันสร้างขนำเล็กๆ เพื่อเป็นสถานที่ขายข้าวโพด มันเทศ และ ผักสวนครัว ตอนนี้ขายผลิตผลที่ได้จากการปลูก
ในร่องยางพาราของพี่สาว ได้ 2 เดือนโดยลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นคนที่ขับรถ ผ่านไป ผ่านมา เห็นก็เลยแวะซื้อ เดือนที่แล้ว ขายได้ 8,400 บาทเดือนนี้ขายได้ 7,200 บาท  ซึ่งพอจะเลี้ยงครอบครัวได้ ระหว่างหายางพารากรีด  ปัญหา อุปสรรค ในการปลูกข้าวโพดและผักสวนครัว นั้น พี่วรรณา เล่าว่า  ปัญหาอย่างแรกและอย่างเดียว คือเรื่อง เงินทุน เนื่องมาจากตนและสามี ประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยางพาราเพียงอย่างเดียว เมื่อไม่ได้กรีดยาง จึงทำให้ขาดรายได้ ตนและสามีไม่มีเงินเก็บมากพอ ที่จะนำไปลงทุนทำได้
เพียงแค่ขอเมล็ดพันธุ์พืชจากเพื่อนบ้าน และซื้อเมล็ดผักเล็กๆน้อยๆมาปลูก เพื่อกินในครอบครัวเท่านั้น แต่โชคดีที่ตอนนั้นกองทุนหมู่บ้านได้ประชุมสมาชิก เพื่อปล่อยเงินกู้ สามีของตนจึงได้ไปกู้เงินกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 10,000 บาท เพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวาน เมล็ดพันธุ์ผัก
ปุ๋ย และซื้อยาแปดห้า มาคลุกเมล็ดพันธุ์

 

 

 

ขั้นตอนการปลูกข้าวโพด พี่วรรณา บอกว่า ปลูกง่าย เหมือนกับการปลูกพืชผักทั่วไป เริ่มจากนำเมล็ดข้าวโพดมาคลุกยาแปดห้า เพื่อป้องกัน
มดกินเมล็ด หลังจากนั้นก็นำไปปลูกโดยการขุดหลุมเล็กๆ ปลูกหลุมละ
2-3 เมล็ด ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 15-20  ซ.ม.ปลูกเป็นแถว ๆ
เพื่อความสวยงาม   ส่วนการให้น้ำ ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องให้น้ำ แต่ถ้าไม่ตก
ก็ควรให้น้ำ 2-3 วัน/ครั้ง  หลังจากนั้นประมาณ  7 วัน เมล็ดก็จะงอก ให้สังเกตว่าถ้าหลุมไหนมีต้นข้าวโพดขึ้นหลายต้น ก็ให้ถอนไปปลูกหลุมที่เมล็ดไม่งอก  ส่วนการใส่ปุ๋ย ตนได้ใส่ขี้วัวแทนปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยเคมี
ราคาแพง  ต้นข้าวโพดจะโตขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งออกฝัก และสามารถเก็บ
ฝักได้เมื่อเส้นไหมที่ฝักข้าวโพดเป็นสีน้ำตาลเข้ม  ตอนนี้ขายฝักข้าวโพด ราคา กิโลกรัมละ 20 บาท  สำหรับผักสวนครัวที่ปลูกและขายที่ขนำนั้นรับรองได้ว่า ไม่มีการใช้สารเคมี ทุกอย่างปลอดสารพิษ ราคาย่อมเยา
ซื้อมาก ซื้อน้อย แถมได้

 

           เมื่ออ่านบทความจบ อาจจะคิดว่าไม่น่าสนใจอะไร ก็เป็นเพียงเรื่องการปลูกข้าวโพด ธรรมดาทั่วไป ใครๆก็สามารถทำได้ สามารถหาดูได้ทุกมุมของประเทศ แต่ในมุมมองของบ่าวยัณ ที่ได้นเสนอนั้น มองว่านอกจากที่ปลูกข้าวโพดธรรมดาๆ แล้ว ครอบครัวนี้ยังได้ปลูกความเพียรพยายาม ปลูกความตั้งใจ ไม่ยอมแพ้ชีวิต ปลูกความพอเพียง  ใส่ลงไปในหลุมพร้อมๆกับเมล็ดข้าวโพดด้วย ผลผลิตที่ได้จึงออกมาอย่างที่เห็น ขอเป็นกำลังใจให้พี่วรรณา สามารถหายางพารากรีด ให้ได้โดยเร็ว อย่าลืมปลูกข้าวโพดและผักสวนครัวเพื่อเป็น
อาชีพเสริมต่อไป ผ่านมาอำเภอเวียงสระรอยต่ออำเภอพระแสง ถ้าพอมีเวลาแวะขนำน้อยๆ เยี่ยมชม ทักทาย เป็นกำลังใจให้พี่วรรณา อุดหนุนข้าวโพดไปต้มกันบ้าง สุดท้าย ขอให้ พี่วรรณา พยายามต่อไป เชื่อว่าคนขยัน จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้  ยิ้มเข้าไว้แล้วโชคดีจะมาหา

 

ขั้นตอนและวิธีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

Published กุมภาพันธ์ 5, 2012 by 5a20001
วิธีปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยว Narai-3พลัส PDF พิมพ์ ส่งเมล
เขียนโดย Administrator
Monday, 28 April 2008

ขั้นตอนและวิธีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ข้าวโพดเป็นพืชไร่ที่เจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด  โดยเฉพาะในดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี และมีปริมาณแร่ธาตุอาหารพืชอุดมสมบูรณ์ดี  พื้นปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ควรจะเป็นที่ดอนหรือเป็นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง  พื้นที่ปลูกควรจะมีความลาดขันต่ำ

    
                                         สภาพพื้นที่เหมาะกับการปลูกข้าวโพด

 

ฤดูปลูก   การปลูกข้าวโพดสามารถปลูกได้ดังนี้
              ต้นฤดูฝน      :  ปลูกได้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน ตามสภาพฝนแต่ละพื้นที่
              ปลายฤดูฝน  :   ปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม
               ฤดูแล้ง         :   ปลูกได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์
ขั้นตอนการปฏิบัติ
              1) การเตรียมดิน  มีความสำคัญต่อการปลูกข้าวโพด ควรมีการไถพรวนดินให้มีความร่วนซุย เพราะ จะทำให้เมล็ดข้าวโพดงอกได้ดี  นอกจากนี้ยังช่วยให้ดิน   มีการระบายน้ำได้ดี  รากข้าวโพดหาอาหารได้ดี ซึ่งการไถพรวนควรไถอย่างน้อย  2 ครั้ง

1.1 ไถดะ การไถด้วยผาน 3 หรือผาน 4 ควรไถให้ลึกประมาณ 30 cm. แล้วจากไถดะเสร็จควรตากดินไว้ประมาณ 10-15 วัน

1.2 ไถแปร  ควรไถด้วยผาน 7  เพื่อย่อยดินก้อนใหญ่ให้แตก ทำให้ดินมีความร่วนซุยมากยิ่งขึ้น  เพื่อให้เมล็ดพันธุ์งอกได้อย่างสม่ำเสมอ

หมายเหตุ   ก่อนปลูก ดินควรมีความชื้นที่พอเหมาะ

2)  วิธีการปลูก   ทำได้ 2  วิธี  ดังนี้

              2.1. ใช้เครื่องปลูก   สภาพดินต้องมีความชื้นพอเหมาะ ในการปลูกควรปรับจานปลูกให้เหมาะสมกับเมล็ด  ควรปรับเครื่องปลูกให้มีระยะระหว่างแถว 75 ซม. ระหว่างหลุมประมาณ 20-25 ซม.  ใช้เมล็ด 1-2 เมล็ดต่อหลุม หลังจากข้าวโพดงอกแล้วประมาณ 10-15 วัน  ให้ถอนแยกเหลือ 1 ต้นต่อหลุม

เครื่องปลูกขนาดเล็ก                            เครื่องปลูกขนาดใหญ่

              2.2. ใช้คนปลูก   ช่วงสภาพดินมีความชื้นพอเหมาะ ใช้รถไถเล็กหรือรถไถเดินตาม  โดยชักร่องให้มีระยะระหว่างร่องประมาณ 75 ซม.  แล้วใช้คนหยอดเมล็ดลงในร่องให้มีระยะระหว่างหลุม 25 ซม. แล้วกลบดินหนา 4-5 ซม.  โดยใช้เมล็ด 1-2 เมล็ดต่อหลุม  หลังจากข้าวโพดงอกแล้วประมาณ 10-15 วัน  ให้ถอนแยกเหลือ 1 ต้นต่อหลุม

ใช้คนปลูก                             ระยะการปลูก 70 x 25 ซ.ม.

3)  การใส่ปุ๋ย   แบ่งได้ 2 ครั้ง  เพื่อให้มีธาตุอาหารเพียงพอกับการสร้างผลผลิตได้เต็มที่  ดังนี้
               3.1.  ปุ๋ยรองพื้น  ควรใส่รองก้นหลุม หรือโรยเป็นแถวแล้วกลบพร้อมปลูก  ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15  ควรใช้ 25-30 กิโลกรัม/ไร่

ปุ๋ยรองพื้น                                    ใช้รถหยอดปุ๋ยยูเรีย

       3.2. ปุ๋ยยูเรียใส่ เมื่อข้าวโพดมีอายุ 25-30 วัน ควรมีการใส่ปุ๋ยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ปุ๋ย 46-0-0 และฉีดปุ๋ยบลู-พลัส ผสม เน็ต-พลัสในอัตราการใช้ 20 cc. ต่อน้ำ 20 ลิตร  เพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น

ใช้รถฉีดปุ๋ยบลู-พลัส, เน็ต-พลัส  เพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น

 

4)  การป้องกันและกำจัดวัชพืช
                  การปลูกข้าวโพดให้ได้ผลดี ต้องมีการควบคุมและกำจัดวัชพืชให้ดีด้วย  ซึ่งการควบคุมวัชพืช จะให้ได้ผลดีและประหยัดแรงงานควรมีการใช้สารเคมีร่วมกับการใช้เครื่องจักรกล (หรือแรงงานคน)
                  4.1 หลังจากปลูกข้าวโพด ก่อนข้าวโพดงอก (และก่อนหญ้างอกหรือหญ้างอกต้นเล็กไม่เกิน3ใบ) ให้พ่นยาควบคุมวัชพืชขณะดินชื้น โดยใช้ยาอาทราซีน 80 ในอัตรา 375-750 กรัม  ผสมน้ำ 60-80 ลิตร/ไร่  ผสม อะลาคลอร์ 500-750 cc. ผสมน้ำ 60-80 ลิตร  พ่นในพื้นที่ 1 ไร่   ในขณะที่ดินมีความชื้น
       

                   4.2. ควรมีการทำรุ่นพูนโคน เมื่อข้าวโพดอายุประมาณ 25 -30 วัน เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืชที่งอกใหม่โดยการใช้ผานหัวหมูหรือใช้จอบถาก
5)  ความต้องการน้ำของข้าวโพด   ข้าวโพดมีความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูปลูก ประมาณ 500-600 มิลลิเมตร  หรือประมาณ 800-900 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
                  5.1 การใช้น้ำครั้งแรกเมื่อปลูก หลังจากไถพรวนเตรียมแปลงเสร็จ ให้น้ำประมาณ 30-40 มิลลิเมตร  (50-65 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่) เพื่อให้ดินมีความชื้นพองอก
                  5.2  การให้น้ำในช่วงระยะการเจริญเติบโตของข้าวโพด  ควรให้สัปดาห์ละประมาณ 40-50 มิลลิเมตร (65-80 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อสัปดาห์)  ไม่ควรให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เพราะจำทำให้ข้าวโพดเหลืองแคระแกร็น ผลผลิตลด และอาจตายได้  ถ้าให้น้ำมากเกินไปควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงทันที
          

6) การเก็บเกี่ยวข้าวโพด  การเก็บเกี่ยวอาจทำได้ทั้งใช้แรงงานคน หรือใช้เครื่องเก็บเกี่ยว

               1. การเก็บเกี่ยวสด          :       เมื่ออายุ 105-110 วัน
               2. การเก็บเกี่ยวแห้ง         :       เมื่ออายุ 115-120 วัน
       
7) การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวข้าวโพด 
            หลังการเก็บเกี่ยวข้าวโพด  ถ้าใช้แรงงานคนเก็บเกี่ยวข้าวโพดเป็นฝัก อาจสีข้าวโพดสดแล้วขายได้ทันที หรือถ้าต้องการเก็บข้าวโพดไว้รอขายเมื่อราคาดีควรเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่ความชื้นต่ำ แล้วเก็บไว้ในยุ้งที่มีการระบายอากาศดี หมั่นตรวจสอบดูแลว่าฝักข้าวโพดมีราเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าเริ่มมีราอาจจำเป็นต้องนำฝักข้าวโพดออกตากแดด หรือรีบสีขายก่อนที่ราจะลุกลาม ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ขายข้าวโพดได้ราคาไม่ดี
               

ปัญหา

Published กุมภาพันธ์ 5, 2012 by 5a20001

ข้าวโพดไม่งอก

สาเหตุ : 

·   ปลูกขณะที่ดินมีความชื้นไม่พอ(ดินสองหน้า) แล้วฝนไม่ตกซ้ำ

·   ฝนตกหนักน้ำท่วมขังจนทำให้เมล็ดเน่าตาย

·      การเตรียมดินไม่ดี ดินเป็นก้อนใหญ่เกินไป

·  หนูกัดกินเมล็ด

·   เมล็ดพันธุ์มีความงอกไม่ดี

วิธีแก้ไข :

·       ปลูกเมื่อดินมีความชื้นเพียงพอต่อการงอก

·      ระบายน้ำออกไม่ปล่อยให้ท่วมขังในแปลง

·     เตรียมดินให้มีความร่วนซุย

·     วางกับดักหนูหรือวางยากำจัดหนู

·      เพาะเมล็ดตรวจสอบความงอกก่อนปลูก

##ต้นเหลืองแคระแกร็น

 สาเหตุ :

·      ขาดธาตุอาหาร

.       น้ำท่วมขังข้าวโพดเป็นเวลานาน


วิธีการแก้ไข :

·      ควรใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ

ระบายน้ำออกไม่ปล่อยให้น้ำท่วมขังในแปลง

ข้าวโพดไม่ติดเมล็ด

สาเหตุ :

·      มีฝนตกชุกในช่วงที่ดอกกำลังบาน ทำให้ฝนชะล้างละอองเกสรไปหมด

·       ฝนแล้งมากในช่วงออกดอก ทำให้ฝักไม่ออกไหมหรือออกช้าไม่ทันเกสรตัวผู้

โรคราน้ำค้าง (ใบลาย)

สาเหตุ :

·       มีเชื้อโรคเข้าทำลาย

·      พันธุ์มีความอ่อนแอต่อโรค

 วิธีป้องกันและแก้ไข :

·       ปลูกพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคหรือเมล็ดพันธุ์ที่คลุกยา ridomil (ริโดมิล) ป้องกันโรค

·      ตัดต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลาย ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ

โรคโคนเน่า

 สาเหตุ :

·       มีเชื้อโรคเข้าทำลาย ซึ่งมีทั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย

·       พันธุ์มีความอ่อนแอต่อโรค


เทคนิคการปลูกข้าวโพดอ่อน

Published กุมภาพันธ์ 5, 2012 by 5a20001

##ข้าวโพดฝักอ่อนบุกตลาดโรงงาน

ข้าวโพดฝักอ่อนจัดเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจพืชหนึ่งของประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี การส่งออกอยู่ในรูปฝักสดและบรรจุกระป๋อง พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่เหมาะสมกับการแปรรูปและบรรจุกระป๋องจึงมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมข้าวโพดฝักอ่อนของประเทศ บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มุ่งมั่นในการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมข้าวโพดฝักอ่อนของประเทศ และได้ทำการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนอย่างต่อเนื่อง

##ข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์ดีควรมีลักษณะอย่างไร

·ผลผลิตสูงทั้งผลผลิตทั้งเปลือก และผลผลิตปอกเปลือก
นอกจากนี้ผลผลิตฝักมาตรฐานต้องสูงด้วย คือมีจำนวนฝักดีตรงตามมาตรฐานมาก
(ฝักยาว 4-11 ซ.ม. และ กว้าง 1-1.5 ซ.ม.) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งเกษตรกรผู้ปลูก
และโรงงานแปรรูป

·ลักษณะทรงฝักเรียวยาว ปลายฝักแหลมไม่เปราะ การเรียงไข่ปลาตรง และ ไข่ปลาเล็ก
ฝักตรงไม่คดงอ ไม่มีฝักที่เป็นคอขวดหรือดอกหญ้า

·      มีระบบรากและลำต้นแข็งแรงไม่หักล้ม และต้นสามารถนำมาเลี้ยงสัตว์ได้ดี
·      มีฝักดก จำนวนฝักต่อต้นอย่างน้อยต้องมี 2 -3 ฝักต่อต้นขึ้นไป
·สามารถปลูกได้ทุกฤดู

##พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน

ปัจจุบันทางโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมแปซิฟิค 283 และเริ่มจำหน่ายเมล็ดพันธุ์สู่เกษตรกรในปี 2543 เมื่อเกษตรกรปลูกแล้วก็พบว่าเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงทั้งผลผลิตทั้งเปลือกและปอกเปลือก นอกจากนี้ผลผลิตฝักมาตรฐานยังสูงมากอีกด้วย จำนวนฝักเสียหรือฝักที่ไม่ได้มาตรฐาน  มีน้อยมาก เกษตรกรทางภาคตะวันตกโดยเฉพาะในจังหวัดกาญจนบุรีได้ให้ชื่อพันธุ์แปซิฟิค 283 ว่าเป็น   พันธุ์ปลดหนี้   เพราะปลูกแล้วได้ผลผลิตสูง เกษตรกรบางรายสามารถได้ผลผลิตฝักมาตรฐานสูงถึง 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ (จากการสัมภาษณ์เกษตรกร) นอกจากให้ผลผลิตที่สูง  แล้วรูปทรงฝักยังสวย ปลายฝักแหลม สีเหลืองเหมาะสำหรับโรงงานแปรรูป ปัจจุบันพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมแปซิฟิค 283 เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรและโรงงานแปรรูปเลือกที่จะปลูกเป็นอันดับหนึ่ง

##เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมพันธุ์แปซิฟิค 283

·      อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์

        จำนวน 4-5 ก.ก./ไร่

·      การเตรียมดิน

ไถดะด้วยผาน 3 หรือ ผาน 4  ให้ลึกประมาณ 30 ซ.ม. เพื่อพลิกหน้าดิน

ตากดินไว้ 3-5 วัน จากนั้นไถแปรด้วยผาน 7 เพื่อย่อยดินให้ร่วนซุย

·      การปลูก  มี 2 วิธี

         การปลูกแบบแถวเดี่ยว

            ใช้ระยะปลูก 75 X 30 ซ.ม.  ปลูกลึก 4-5 ซ.ม.  หยอดหลุมละ 3 เมล็ด

          การปลูกแบบแถวคู่

ใช้ระยะระหว่างร่อง120 ซ.ม.  โดยการยกร่องแล้วปลูกข้างร่องทั้งสองข้าง

            ระยะระหว่างหลุม 30 ซ.ม.  หยอดหลุมละ 3 เมล็ด  กลบดินหนา 4-5 ซ.ม.

·      การใส่ปุ๋ย

                ครั้งที่ 1    ใส่ปุ๋ยรองพื้น สูตร 15-15-15  หรือ 25-7-7  อัตรา 50 ก.ก./ไร่
    ครั้งที่ 2    ข้าวโพดอายุ 15-25 วัน ใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 25 ก.ก./ไร่

·      การดูแลรักษา

        ถอดช่อดอกตัวผู้ (ดอกหัว) เมื่อข้าวโพดอายุ 41-45 วัน
การดูแลให้น้ำสม่ำเสมอ  ในช่วงถอดช่อดอกตัวผู้ ถึงเก็บเกี่ยวจะทำให้ได้ผลผลิตสูง

·      การเก็บเกี่ยว

                สามารถเก็บเกี่ยวฝักที่ 1 และ 2 หลังจากถอดช่อดอกตัวผู้แล้ว 3-5 วัน

            และจะต้องเก็บเกี่ยวให้หมดภายใน 5-7 วัน


ข้าวโพดซีพีรุกป่า จับตาวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

Published กุมภาพันธ์ 5, 2012 by 5a20001

ข้าวโพดซีพีรุกป่า จับตาวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

 



28 เมษายน 2551
เรื่องโดย : อานุภาพ นุ่นสง สำนักข่าวประชาธรรม

 

กระแสวิกฤตอาหารโลกกำลังเป็นประเด็นสาธารณะที่แผ่ขยายไปในหลายประเทศทั่วโลก  ประกอบกับการขยายตัวของพืชพลังงาน อาทิ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เริ่มกว้านซื้อที่ดินกันอย่างกว้างขวาง ในประเทศไทยการขยายพื้นที่เพื่อปลูกพืชเหล่านี้ในเรื่องนี้ก็เริ่มขึ้นแล้วในหลายๆ พื้นที่    

 

เป็นเรื่องน่าฉงนไม่น้อยที่ปัจจุบันภาครัฐเองมีแนวคิดและส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตแบบพึ่งตนเอง โดยใช้ระบบเกษตรผสมผสาน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ลดละเลิกการใช้สารเคมี แต่ในเวลาเดียวกันรัฐกลับมีนโยบายการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส ยิ่งโดยเฉพาะยุคที่กระแสพลังงานทดแทนกำลังได้รับความนิยม ไม่เฉพาะรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้สนับสนุน แต่ยังรวมไปถึงบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีที่ร่วมกระตุ้นเกษตรกรโดยใช้กลไกราคาผลผลิตที่สูงจนน่าพอใจเป็นสิ่งล่อใจ ดังนั้น สบู่ดำ อ้อย และพืชพลังงานชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะ “ข้าวโพด” จึงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่

 

สำหรับนโยบายและการรณรงค์การใช้พลังงานทดแทนฝนประเทศไทยนั้น ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 เม.ย.2550 รายงานว่า ช่วงเดือน มี.ค.2550 ราคาข้าวโพดสูงถึงกิโลกรัมละ 7.10 บาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 8 บาท ขณะที่ในปี 2549 ราคาข้าวโพดอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 บาทเท่านั้น

 

ขณะที่การผลิตข้าวโพดของไทย ปัจจุบันสามารถผลิตได้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี จากพื้นที่ปลูกรวมทั้งประเทศประมาณ 6 ล้านไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในประเทศที่ต้องการประมาณ 5.5 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ 60% ที่เหลือ 40% ส่งออกนอกประเทศ ซึ่งจากความต้องการของตลาดโดยเฉพาะเพื่อการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์นั้นส่งผลให้พื้นที่สำหรับการปลูกข้าวโพดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 7.8 ล้านไร่ต่อปี

 

กรณีดังกล่าวนับว่าเป็นตัวกระตุ้นให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาปลูกข้าวโพด และสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ตามมาจากนั้น นั่นคือการหายไปของพื้นที่ป่า !

 

 

ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดนั้นปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการส่งเสริมทั้งจากรัฐและบริษัทเอกชนอย่างเช่นกรณี อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่เกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากซีพี หลังจากนั้นไม่นานพื้นที่เกษตรกรรมเดิมที่เคยใช้ปลูกพืชนานาชนิด อาทิ หอมแดง กระเทียม ขิง ฯลฯ ก็ถูกแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพด ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่ป่าอีกจำนวนมากก็ถูกลักลอบแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพดเช่นเดียวกัน

 

แม่แจ่ม แหล่งปลูกข้าวโพดสำคัญของซีพี

 

อ.แม่แจ่ม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ จ.เชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 3,361 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,100,625 ไร่ มีพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้น 126,685 ไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว 106,059.25 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งที่ผ่านมาช่วงปี 2538-2539 บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ “ซีพี” ได้เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในลักษณะการทำพันธสัญญา หรือ คอนแทรกฟาร์มมิ่ง กรณีดังกล่าวส่งผลให้ข้าวโพดกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของอำเภอ ข้อมูลจากสำนักงานเกษตร อ.แม่แจ่ม ปี 2549-2550 ระบุว่า เกษตรกร อ.แม่แจ่ม ประมาณ 80% มีอาชีพหลักปลูกข้าวโพด ซึ่งมีทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ ส่วนที่เหลือ 20% จะเป็นหอมแดง ลิ้นจี่ ลำไย ฯลฯ

 

ลำดับที่

พืชเศรษฐกิจ

พื้นที่ปลูก (ไร่)

เปอร์เซ็นต์

1

ข้าวโพด

82,904

78.16

2

หอมแดง

19,937

18.80

3

ลิ้นจี่

1,586

1.50

4

ลำไย

1,391.75

1.31

5

กระเทียม

198.5

0.20

6

ส้มเขียวหวาน

42

0.03

  รวม

106,059.25

100

 

ดังนั้น กล่าวได้ว่าหลังจากปี 2539 เป็นต้นมา ภายหลังซีพีเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรชาว อ.แม่แจ่มปลูกข้าวโพด วิถีการผลิตของเกษตรกรแต่ละตำบลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้น มีการใช้สารเคมีขนานใหญ่ พื้นที่ที่เคยถูกทิ้งร้างถูกแทนที่ด้วยไร่ข้าวโพด ข้อมูลจากสำนักงานเกษตร อ.แม่แจ่ม ปี 2549-2550 ระบุอีกว่า ปี 2550 พื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งอำเภอมีจำนวน 82,904 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,316 กิโลกรัม ผลผลิตรวม 97,986,900 กิโลกรัม โดยแยกข้อมูลการผลิตรายตำบลได้ดังนี้

 

ลำดับที่

ตำบล

พื้นที่ปลูก (ไร่)

ผลผลิต (กิโลกรัม)

1

แม่นาจร

14,135

16,300,800

2

ท่าผา

13,608

16,135,800

3

ช่างเคิ่ง

13,350

15,564,000

4

แม่ศึก

12,100

13,866,000

5

ปางหินฝน

11,550

13,844,400

6

บ้านทับ

8,465

9,933,900

7

กองแขก

8,136

9,426,000

8

แม่แดด

630

756,000

9

แจ่มหลวง

580

1,740,000

10

บ้านจันทร์

350

420,000

รวม

82,904

97,986,900

 

ผลจากการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้น ประกอบกับแรงจูงใจด้านราคาเฉลี่ยต่อไร่ที่สูงถึง 6,500 บาท จากเดิมช่วงปี 2547-2548 ที่มีราคาเฉลี่ยไร่ละ 4,606 บาทเท่านั้น และที่สำคัญการสนับสนุนจากซีพีในการดูแล จัดหาวัตถุดิบ รวมทั้งแหล่งเงินทุนให้ ดังนั้นแรงจูงใจดังกล่าวนอกจากทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกในที่ดินที่มีอยู่แล้ว ยังมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

 

เมื่อป่าถูกแทนที่ด้วยไร่ข้าวโพด

 

สถานการณ์การปลูกข้าวโพดด้วยการบุกรุกพื้นที่ป่านั้นเริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจังช่วงปี 2544–2545 โดยเห็นได้ชัดเจนจากการเปิดพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะใน ต.แม่นาจร ซึ่งมีการปลูกข้าวโพดมากที่สุดและมีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากที่สุดด้วย

 

นายประชา จันทร์ทอแสง ผู้นำหมู่บ้านเซโดซา ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า สภาพพื้นที่ป่า อ.แม่แจ่ม หลังมีการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดจากซีพีพื้นที่ป่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแนวโน้มในอนาคตหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว การบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพดยิ่งจะลุกลามเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นภาครัฐต้องมีนโยบายในการจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

 

นายประชา กล่าวต่อว่า สำหรับชุมชนเซโดซาของตนนั้นเป็นชุมชนปกากะญอ ซึ่งทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการผลิตในแบบดั้งเดิม แต่ปัจจุบันการเข้ามาสนับสนุนปลูกข้าวโพดจากซีพีทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญหน้ากับระบบทุน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านจะต้านทานกระแสนี้ได้ ดังนั้นหากในอนาคตการผลิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสทุนนิยมแล้วผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวบ้านนั่นเอง และตนเชื่อว่าในอนาคตหากพื้นที่ที่เคยปลูกข้าวโพดใน อ.แม่แจ่ม เกิดการเสื่อมสภาพ ดินไม่มีธาตุอาหาร เกิดสารเคมีตกค้างจนไม่สามารถปลูกพืชชนิดใดได้ ซีพีก็ต้องไปหาและสนับสนุนพื้นที่ปลูกแห่งใหม่ ขณะที่ชาวบ้านก็ต้องอยู่ที่แม่แจ่มต่อไป หากเป็นเช่นนี้อะไรจะเกิดขึ้นนี้ 

 

นายประเสริฐ ทะนะมูล ผู้ใหญ่บ้านหัวดอย ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า พื้นที่ป่า อ.แม่แจ่ม ในปัจจุบันลงลงถึงร้อยละ 50 มี แต่ส่วนที่เป็นเขตอุทยานฯ อาจยังมีความอุดมสมบูรณ์บ้าง สาเหตุการลดลงของป่าเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านจากการสนับสนุนของนายทุนโดยเฉพาะการสนับสนุนปลูกข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพืชหลักของ อ.แม่แจ่มไปแล้ว

 

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น นายประเสริฐ เสนอแนะว่า ภาครัฐและส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมีระบบป้องกันเพื่อไม่ให้การปลูกข้าวโพดรุกล้ำไปในเขตป่า ขณะเดียวกันบริษัทเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมก็ต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย

 

ด้านตัวแทนซีพี ซึ่งกล่าวในเวทีประชุมเชิงบูรณาการ เพื่อจัดระเบียบการใช้ที่ดิน การป้องกันการปลูกพืชเศรษฐกิจ การป้องกันการตัดไม้ทำทำลายป่า และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม และ อ.อมก๋อย  ณ สวนป่าแม่แจ่ม องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.แม่แจ่ม เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ตนเห็นว่าปัญหาใหญ่ของ อ.แม่แจ่ม คือเรื่องที่ดินและยาเสพติด ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้น ซีพีมีส่วนร่วมในการสร้างวิถีชุมชนคือการส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพด แต่ก็มีการเน้นย้ำมาตลอดว่าซีพีไม่สนับสนุนให้ไปปลูกโดยการไปบุกรุกป่า ขณะเดียวกันปัจจุบันเรื่องการเกษตรนั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไปแล้ว กล่าวคือรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ซึ่งทางซีพีเองก็สนับสนุนนโยบายนี้ และไม่เฉพาะ อ.แม่แจ่ม เท่านั้น ที่ผ่านมาซีพีไปสำรวจพื้นที่ในหลายจังหวัดเพื่อที่จะปลูกข้าวโพดด้วย

 

ขณะที่นายวิมล มาจันทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 สำนักงานเกษตร อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า การปลูกข้าวโพดใน อ.แม่แจ่ม เกษตรกรจะปลูกปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกปลูกเดือน พ.ค.และเก็บเกี่ยวช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ครั้งที่สองปลูกเดือน มิ.ย.เก็บเกี่ยวเดือน ธ.ค. และนับวันยิ่งจะราคาดีขึ้น อย่างปี 2550 ที่ผ่านมา ราคากิโลกรัมละ 8-9 บาท ขณะที่ต้นทุนต่อไร่เฉลี่ยประมาณ 2,500-3,000 บาท ส่วนผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 750 กิโลกรัมต่อไร่ และในปี 2551 นี้มีแนวโน้มว่าราคาจะสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 10 บาท ขณะที่ปีที่แล้วๆ มาราคาจะอยู่ที่ 3.5-5 บาท ซึ่งจากราคาที่สูงอย่างนี้ทำให้ชาวบ้านปลูกกันเยอะมาก และมีผลต่อการบุกรุกป่าด้วย

 

นายวิมล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานั้น การส่งเสริมของซีพีใน อ.แม่แจ่ม ซีพีจะประสานกับ ธกส.รวมทั้งสหกรณ์เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้ให้แก่เกษตรกร ขณะเดียวกันเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากซีพีในราคากิโลกรัมละ 80-85 บาท ใน 1 ไร่ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5 กิโลกรัม นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องปุ๋ย ยาฆ่าแมลงด้วย

 

นอกจากนี้ นายวิมล กล่าวอีกว่า การลดลงของพื้นที่จากการเข้ามาส่งเสริมของซีพีนั้น ตนเห็นว่าจะไปโทษซีพีทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้อยู่ที่ชาวบ้าน ชาวบ้านต้องมีจิตสำนึก อาจปลูกในพื้นที่เดิมที่มีอยู่แต่ให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องไปบุกรุกป่า ซึ่งที่ผ่านมาเราเข้าไปให้คำแนะนำโดยตลอด แต่ชาวบ้านก็ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร ดังนั้นตนเห็นว่าในอนาคตหากต้องการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต้องนำแนวคิดการไม่ขยายพื้นที่ปลูกแต่ต้องเพื่อผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มขึ้นจะสามารถแก้ปัญหาได้  

 

อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดว่า ผลจากการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมักเกิดขึ้นควบคู่กับการหายไปของพื้นที่ป่าเสมอ ปัญหาดังกล่าวกลุ่มผู้สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือบริษัทเอกชนเองก็มักมองข้ามหรือแสร้งไม่เห็นปัญหาที่จะตามมา ทั้งป่าถูกทำลาย ดินเสื่อมสภาพ สารเคมีตกค้าง เหล่านี้ล้วนเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่เหล่านั้นชัดเจนว่าผู้ได้รับผลกระทบก็เป็นเกษตรกรนั่นเอง ดังนั้นกรณีการปลูกข้าวโพดใน อ.แม่แจ่ม สังคมคงต้องช่วยกันพิจารณากันว่าในระยะต่อไปจากนี้เราจะสร้างมาตรการ และทางออกในปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร.

ฤดูปลูกข้าวโพด

Published กุมภาพันธ์ 5, 2012 by 5a20001

ฤดูกาลปลูกข้าวโพด

ฤดูปลูกข้าวโพด
ข้าวโพดเป็นพืชไร่ที่ค่อนข้างทนทานและปลูกง่าย  ในสภาพดินฟ้าอากาศของเมืองไทย ถ้ามีน้ำเพียงพอ  จะสามารถปลูกข้าวโพดได้ตลอดทั้งปี  การปลูกส่วนใหญ่อาศัยน้ำจากน้ำฝนธรรมชาติเพียงอย่างเดียว  ดังนั้น ฤดูปลูกข้าวโพดที่เหมาะสมจึ่งขึ้นอยู่ กับจำนวนน้ำฝนและการกระจายตัวของฝนในแต่ละเดือนนั่นเอง ปกติเฉลี่ยโดยทั่ว ๆ  ไป ฝนจะเริ่มตกมากตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤศจิกายน  และระหว่างสิงหาคม-กันยายน เป็นช่วงที่ฝนตกชุกที่สุด พันธุ์ข้าวโพดที่นิยมปลูกกันอยู่ในปัจจุบันมีอายุปานกลาง  คือ ประมาณ ๑๑๐-๑๒๐ วัน  ดังนั้น จึงอาจเลือกปลูกข้าวโพดได้ตามความเหมาะสม  ถ้าปีใดมีฝนตกสม่ำเสมอแต่ต้นปี อาจปลูกข้าวโพดได้ ๒ ครั้ง คือ  ครั้งแรกปลูกในระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และครั้งที่สองปลูกระหว่างเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนสิงหาคม พวกที่ปลูกต้นฤดูฝนโดยทั่ว ๆ ไป  มักได้ผลิตผลสูงกว่าพวกที่ปลูกปลายฤดูฝน  ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณน้ำฝนกำลังพอเหมาะและโรคแมลงรบกวนน้อย  แต่มีข้อยุ่งยากในการเก็บเกี่ยว ไม่สะดวกแก่การตากข้าวโพด  เนื่องจากฝนตกชุก

ฤดูกาลปลูกข้าวโพด

ข้าวโพด เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดปีถ้าไม่มีปัญหาเรื่องนํ้า แต่โดยทั่วไปเกษตรกรไทยปลูกข้าวโพด โดยอาศัยนํ้าฝนเป็นหลัก ดังนั้นฤดูปลูกโดยทั่วไปในประเทศไทย มี 2 ฤดู คือ
1. ปลูกต้นฤดูฝน เริ่มประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ขึ้นอยู่กับการตกและการกระจายของ
ฝนในท้องถิ่น เกษตรกรนิยมปลูกข้าวโพดต้นฤดูฝน เนื่องจากได้ผลผลิตสูงกว่า ไม่มีโรครานํ้าค้างระบาด
พันธุ์สุวรรณ 2602 เทียบกับสุวรรณ 1 ทำความเสียหาย รวมทั้งปัญหาวัชพืชรบกวนน้อยกว่าปลูกปลายฤดูฝน แต่จะมีปัญหาจากสารพิษ อะฟลาท้อกซิน
2. ปลูกปลายฤดูฝน เริ่มประมารเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม การปลูกในฤดูปลายฝนนี้ ต้องใช้
พันธุ์ที่ต้านทานต่อโรครานํ้าค้าง เพราะเป็นฤดูปลูกที่โรครานํ้าค้างระบาดทำ ความเสียหายให้แก่ข้าวโพด
มากอย่างไรก็ตามข้าวโพด ที่เก็บได้จากการปลูกต้นฤดูฝนคุณภาพของเมล็ดตํ่า ทั้งนี้เพราะเมล็ดเก็บ
เกี่ยวที่ความชื้นสูง ทำให้เกิดเชื้อรา ซึ่งสร้างสารพิษ อะฟลาท้อกซิน ทำให้เมล็ดข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวจากการปลูกต้นฤดูฝน มีสารพิษนี้ในปริมารสูง จนก่อให้เกิดปัญหาการรับซื้อจากตลาดต่างประเทศ
ส่วนเมล็ดข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวจากการปลูกปลายฤดูฝน ไม่มีปัญหาเรื่องสารพิษอะฟลาท้อกซิน
ถ้ามีก็น้อยเพราะการเก็บเกี่ยวกระทำ ในขณะที่ความชื้นในอากาศตํ่า

ข้าวโพดฝักอ่อน

Published กุมภาพันธ์ 5, 2012 by 5a20001

ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) เป็นผักอุตสาหกรรมและส่งออกที่สำคัญของประเทศ การส่งออกมีทั้งการแปรรูปบรรจุกระป๋อง การส่งออกฝักสด และการแช่แข็ง ซึ่งมีแนวโน้มการตลาดที่สดใสในปี 2534 ประเทศไทยสามารถทำรายได้จากข้าวโพดฝักอ่อน เป็นมูลค่ามากกว่า พันล้าน บาท สำหรับเกษตรกรแล้ว ข้าวโพดฝักอ่อน นับเป็นผักที่นิยมปลูก เนื่องจากมีเทคโนโลยีการผลิต ที่ไม่ยุ่งยากมีระบบตลาด ที่สะดวกและมั่นคงพอควร ไม่ต้องใช้สารเคมีอันตรายและเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นโดยมีอายุตั้งแต่ วันปลูกถึงวันเก็บเกี่ยว ประมาณ 45-50 วัน และมีช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวเพียง 7-10 วัน ดังนั้น ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวฝักอ่อนหมดจะใช้เวลาเพียง 60-70 วันเท่านั้น เกษตรกรสามารถปลูกได้ปีละ 4-5 ครั้ง ซึ่งสามารถปลูกเป็นพืชหลักที่ทำรายได้ที่ดี

การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเพื่ออุตสาหกรรมหรือส่งออก สิ่งที่สำคัญที่สุด คือคุณภาพ และปริมาณของผลผลิต ทำอย่างไรให้ได้มาตรฐานมากที่สุด ดังนั้น เกษตรกรควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ก่อนปลูก ซึ่งมีข้อที่เกษตรกรควรคำนึงถึงดังนี้
– เกษตรกรควรรวมตัวเป็นกลุ่ม ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตมากพอสำหรับผู้ซื้อ และสามารถทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และวางแผนการผลิต ร่วมกัน
– การปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ต้องใช้แรงงานมากในช่วงการดึงช่อดอกตัวผู้และช่วงเก็บเกี่ยวทุกวัน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า สามารถทำ ได้ครอบครัวละประมาณ 3-5 ไร่ เกษตรกรจึงควรทยอยปลูก ซึ่งต้องวางแผนการผลิตร่วมกับผู้ซื้อ

พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn)
พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่ดี เป็นปัจจัยที่สำคัญข้อหนึ่งที่จะได้ผลผลิตคุณภาพดี คือมีปริมาณฝักเสียไม่ได้มาตรฐานน้อย ตามความต้องการของโรงงานแปรรูป ขณะเดียวกันพันธุ์นั้น ก็ควรให้ผลผลิตสูง และง่ายต่อการจัดการของเกษตรกรผู้ปลูกด้วย พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่เกษตรกรใช้มีดังนี้
– พันธุ์ผสมเปิดต่างๆ ได้แก่ สุวรรณ 1 สุวรรณ 2 สุวรรณ 3 รังสิต 1 และเชียงใหม่ 90 เป็นต้น จะสังเกตได้ว่า นอกเหนือจากพันธุ์ รังสิต 1 เชียงใหม่ 90 และพันธุ์ข้าวโพดหวานแล้ว พันธุ์สุวรรณ 1, 2, 3 ต่างเป็นพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงและ พัฒนาเพื่อใช้ในการ ผลิต เป็นข้าวโพดไร่ มีข้อดีคือ มีความต้านทานโรคราน้ำค้าง การเจริญเติบโตและปรับตัวดี และเมล็ดพันธุ์มีราคาถูก แต่มีข้อควรระวัง คือ ฝักอ่อนจะโตเร็วควรเก็บเกี่ยวฝักอ่อนในระยะที่เหมาะสม มิฉะนั้นจะทำให้ฝักอ่อนมีขนาดโตเกินมาตรฐาน ที่โรงงานอุตสาหกรรม ต้องการ
– พันธุ์ลูกผสมของทางราชการและบริษัทเอกชนต่างๆ พันธุ์ข้าวโพดอ่อนเหล่านี้มีข้อดี คือ มีความสม่ำเสมอของทรงต้น และอายุ เก็บเกี่ยวตลอดจนจำนวนฝักอ่อนได้มาตรฐานสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิด ทั้งนี้ ต้องมีการดูแลรักษาที่ดีด้วย เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน ลูกผสม แม้จะมีราคาสูง แต่ในการผลิตข้าวโพดฝักอ่อน ปัจจุบันซึ่งเป็นการผลิตเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพ ความสม่ำ เสมอ ของผลผลิต และปัญหาค่าแรงงานการเก็บเกี่ยวสูงแล้ว การใช้พันธุ์ลูกผสมก็มีความจำเป็นมากขึ้น

ตารางเปรียบเทียบพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน

การปรับปรุงดินสำหรับปลูก ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn)
ข้าวโพดฝักอ่อนสามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่การที่จะปลูกข้าวโพอฝักอ่อนให้ได้ผลดีนั้น ควรปลูกในดิน ร่วนตั้งแต่ดิน ร่วนเหนียว และดินร่วนทราย พื้นที่ปลูกต้องเป็นดินที่ระบายน้ำดีเพราะข้าวโพดฝักอ่อนไม่สามารถ เจริญเติบโต ได้ในดินเปียกแฉะ และระบายน้ำยาก ข้าวโพดฝักอ่อนสามรถปลูกได้ในสภาพดินที่มีปฏิกิริยาตั้งแต่ pH 5.5-7.0 และสามารถปลูกในดินที่เป็นกรด ค่อนข้างจัด

การปรับปรุงและบำรุงดินสำหรับ ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) ควรทำดังนี้
– ใส่ปูน กรณีที่ดินเป็นกรด เช่น ในท้องที่ภาคกลาง ถ้าเกษตรกรยังไม่ได้วิเคราะห์ดิน ก็อาจทำได้โดยการใส่ปูนขาว ในอัตราต่ำ เช่น 100-200 กก./ไร่ การใส่ปูนขาวนอกจากจะช่วยแก้ความเป็นกรดให้แก่ดินแล้ว ยังสามารถให้ธาตุอาหารแคลเซี่ยมแก่พืชด้วย สิ่งที่ควรปฏิบติอีกประการหนึ่งคือ การใส่หินฟอสเฟตบด เพราะจะสามารถเป็นปุ๋ยแก่ข้าวโพดฝักอ่อนอย่างดี นอกจากแก้ความเป็น กรดแล้ว ยังมีธาตุฟอสฟอรัสแล้ว ธาตุอาหารรองและอาหารเสริมปนอยู่อย่างเพียงพอด้วย
– ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยให้โครงสร้างของดินดี ชุ่มน้ำและระบายน้ำดีอย่างสม่ำเสมอ ผลผลิตสูง และเปอร์เซ็นต์ฝักมาตรฐาน สูง ปุ๋ยอินทรีย์สามารถใช้ได้ถึง 5 ตันต่อไร่ แต่เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรจัดซื้อหรือหาปุ๋ยอินทรีย์ไม่สะดวกนัก การใส่ขึ้นกับกำลังซื้อ ของเกษตรกร แต่อย่างน้อยเกษตรกรควรใส่ประมาณ 200-300 กก./ไร่ และใส่ทุกปี นอกจากนี้ ต้นข้าวโพดฝักอ่อน หากไม่นำไป ใช้ เป็น อาหารสัตว์ ก็สามารถจะใช้ไถกลบบำรุงดินได้อย่างดี

การเตรียมดินปลูก ข้าวโพดฝักอ่อน ขุดดินหรือพรวนดินให้ร่วนโปร่ง และมีความลึกประมาณ 25 เซนติเมตร แล้วยกร่องเป็นลูกฟูกสูง 25 เซนติเมตร ให้ร่องระบายน้ำได้ สำหรับฤดูฝนให้พื้นที่นาใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักตามที่หาได้เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย

วิธีปลูกข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) การผลิต ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) ผลผลิตข้าวโพดจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้คือ

  1. จำนวนต้นต่อพื้นที่ (ในกรณีที่มีปัจจัยอื่นๆ เหมาะสม)
  2. พันธุ์
  3. ความอุดมสมบูรณ์ของดิน
  4. ปริมาณปุ๋ยที่ใส่
  5. การชลประทาน

ระยะปลูกและอัตราปลูก ขึ้นอยู่กับปริมาณปุ๋ยที่ใส่ ระยะปลูกที่เหมาะสมโดยทั่วๆ ไปใช้ 50×50 จำนวน 3 ต้นต่อหลุม (19,000 ต้นต่อไร่) หรือ 50×40×3 จำนวน 3 ต้นต่อหลุมขึ้นไป แต่ถ้าเพิ่มอัตราปลูกไปถึง 26,000 ต้นต่อไร่ ก็ได้แต่ไม่ควรเพิ่มมากกว่านี้ไม่มีประโยชน์ อาจเพิ่มโดย วิธีจำนวนต้นต่อหลุม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจำนวนผลผลติจะขึ้นอยู่กับจำนวนต้นพืชต่อพื้นที่ปลูก แต่ถ้าหากว่าเพิ่มจำนวนต้นต่อ พื้นที่ มาก จนเกินความพอดี ก็อาจทำให้เกิดผลต่างๆ ตามมา

  1. น้ำหนักของฝักจะลดลง
  2. ขนาดของฝักจะลดลงทั้ความยาวและความกว้าง
  3. ทำให้จำนวนฝักต่อต้นลดลง
  4. ทำให้ปริมาณของต้นที่ไม่มีฝักมากขึ้น
  5. ทำให้ต้นล้มและเกิดโรคเน่าคอดินมากขึ้น
  6. ทำให้เจริญเติบโตช้าและต้นเตี้ยกว่าปกติ

อัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) ที่ใช้ในการปลูก
ถ้าเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวโพดไร่ เช่น รังสิต 1 สุวรรณ 1 หรือ 2 จะใช้เมล็ดพันธุ์ 6-7 กก.ต่อไร่ แต่ถ้าเป็นข้าวโพดหวานจะ ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 3-5 กก.ต่อไร่ ส่วนการหยอดจำนวนเมล็ดต่อหลุมนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของจำนวนต้นต่อหลุม เช่น หากต้องการ 3 ต้นต่อหลุมก็จะหยอดเมล็ด 4-5 เมล็ดต่อหลุมเป็นต้น (ในกรณีนี้เมล็ดจะต้องมีความงอกไม่ต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์)

การใส่ปุ๋ยข้าวโพดฝักอ่อน
ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อข้าวโพดฝักอ่อน ได้แก่ ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ส่วนโปแตสเซี่ยมสำคัญเป็นอันดับรอง ดังนั้น ในท้องที่มี ความอุดมสมบูรณ์สูง ปุ๋ยที่จะใช้ในการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนนั้นไม่จำเป็นต้องใส่ครบทุกธาตุอาหาร แนวทางปฏิบัติในการ ใช้ปุ๋ย สรุปกว้าง ๆ ได้ดังนี้

  1. ในสภาพสวนยกร่อง ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนติดต่อกัน ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเพียงอย่างเดียว อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ รองก้นหลุมตอนปลูกและโรยข้างแถว เมื่อข้าวโพดอายุ 25-30 วัน ครั้งละครึ่งของปริมาณทั้งหมด
  2. ในดินนาตามหลังข้าว ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างเดียว อัตรา 15-30 กิโลกรัมต่อไร่ วิธีใส่เช่นเดียวกับข้อ 1
  3. ในพื้นที่ไร่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงต่ำ ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มาก 1-2 ต้นต่อไร่ ปุ๋ยเคมีใช้ 15-15-15 อัตรา 75-100 กก.ต่อไร่ รองก้นหลุมตอนปลูกและปุ๋ยไนโตรเจน 10-15 กิโลกรัม ต่อไร่ โรยข้างแถวเมื่ออายุ 25-30 วัน ถ้าดินดีใช้ปุ๋ยไนโตรเจน อย่างเดียว 20 กก.ต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง

การให้น้ำกับข้าวโพดฝักอ่อน การให้น้ำกับข้าวโพดฝักอ่อน จะต้องเอาใจใส่ใกล้ชิด เพราะข้าวโพดฝักอ่อนจะเจริญเติบโตได้ดี มีฝักสมบูรณ์ พื้นดินที่ใช้ ปลูกต้องมี ความชื้นตลอดฤดูปลูกระมัดระวังอย่าให้ถึงกับแฉะจะชะงักการเจริญเติบโต การขาดน้ำหรือปล่อยให้ดินแห้ง ช่วงใดช่วงหนึ่งของการ เจริญ เติบโต จะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก เช่นกัน และมีผลกระทบถึงผลผลิตขนาดฝักอ่อนและคุณภาพของฝัก โดยเฉพาะ ฝักที่มีรูปร่างผิดปกติจะเกิดขึ้นมากถ้าขาดน้ำในช่วงติดฝักอ่อน อาจกล่าวได้ว่า ข้าวโพดฝักอ่อนต้องการน้ำโดยพิจารณาดินในระดับบน คือ 0-20 ซม. ตลอดฤดูปลูก ในการปฏิบัติทั่วไปการให้น้ำ ในฤดูแล้ง คือขณะที่ข้าวโพดยังเล็ก ให้น้ำทุก 2-3 วัน เมื่อต้นสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร หรือสูงประมาณหัวเข่า ให้น้ำทุก 5-7 วัน ต่อจากนั้นให้น้ำเมื่อดินในแปลงเริ่มแห้ง

การพรวนดิน และการกำจัดวัชพืช ข้าวโพดฝักอ่อนมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น แม้จะมีวัชพืชขึ้นแต่ไม่ทำให้ผลผลิตลดลง การใส่ปุ๋ญในช่วงข้าวโพดมีอายุ 15-20 วัน จะช่วย กำจัดวัชพืชเหมือนกับมีการพรวนดิน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายลง แต่ถ้าจะทำเพียงครั้งเดียวก็พอ หรือถ้าต้องการใช้สารเคมีกำจัด วัชพืช ก็ใช้ อลาคอร์ อัตรา 600-700 ซีซีต่อไร่ ฉีดพ่นหลังจากปลูกขณะที่ข้าวโพดและวัชพืชยังไม่งอก

การถอดยอด เมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 38 วัน หรือเมื่อมีใบจริงครบ 7 คู่ ช่อดอกตัวผู้จะเริ่มโผล่ออกมาจากใบธง (ใบยอด) ให้ดึงช่อดอกตัวผู้ทิ้ง โดย ใช้มือหนึ่งจับลำต้นไว้ อีกมือหนึ่งจับใบข้าวโพดที่บานอยู่ตรงกลางของยอด ดึงออกมาตรงๆ การถอดยอดเพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิด การผสมเกสร เพราะถ้ามีการผสมเกสรเกิดขึ้น ข้าวโพดฝักอ่อนจะมีคุณำาพด้อยลง เนื่องจากเมล็ดจะโป่งพอง และทำให้ข้าวโพด ไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ นอกจากนี้การถอดยอดยังช่วงเย่งให้สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น และยังช่วยให้ผลผลิต ข้าวโพด ฝักอ่อน เพิ่มขึ้นด้วย การถอดยอดเป็นเทคนิคสำคัญที่เกษตรกรไม่ควรละเลยเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี

การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดฝักอ่อนจะเก็บเกี่ยวได้หลังจากดึงช่อดอกตัวผู้แล้วประมาณ 3-5 วัน การเก็บเกี่ยวมีข้อพึงปฏิบัติดังนี้

  1. สังเกตจากไหม เริ่มโผล่พ้นปลายฝัก มีความยาว 1-2 เซนติเมตร จะเป็นช่วงที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวที่สุด
  2. เก็บเกี่ยวจากฝักบนสุดเป็นฝักแรก และฝักอื่นๆ ถัดต่ำตามลงมา การหักฝักควรหักให้ติดลำต้นไปด้วย เพราะจะทำให้มองเห็นต้น ที่เก็บเกี่ยวแล้ว
  3. เก็บเกี่ยวทุกวัน เพื่อมิให้ฝักแก่เกินไป
  4. ถ้าเกษตรกรใช้พันธุ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีความชำนาญ เนื่องจากพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนแต่ละพันธุ์จะมีอายุแตกต่างกัน ตั้งแต่ 40-60 วัน เกษตรกรจึงควรเก็บตัวอย่างข้าวโพดที่มีไหมยาวแตกต่างกันมากรีดดูรูปร่างและขนาดของฝัก จะทำให้รู้ว่า ควรเก็บฝักตอนที่ไหมยาว ขนาดไหน
  5. การเก็บฝักเพื่อส่งออกในรูปฝักสด ควรเก็บเกี่ยว 2 ฝักต่อต้น เกษตรกรไม่ควรเก็บฝักที่ 3 เนื่งอจากฝักมักจะไม่สมบูรณ์ ไม่ได้ คุณภาพ ส่งออก การเก็บเกี่ยวข้าวโพดอ่อนในระยะเวลาถูกต้อง เป็นหัวใจสำคัญของการปลูกข้าวโพดฝักอ่อน คุณภาพจะดี หรือไม่ขึ้น อยู่กับช่วงนี้ หากเก็บเกี่ยวไม่ถูกต้อง เช่น ช้าไป ไหมโผล่ยาวจากฝักมากจะได้ฝักที่มีขนาดใหญ่เกินมาตรฐานความต้องการของ โรงงาน หรือผู้ส่งออกฝักสด ซึ่งต้องคัดออกเป็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่ง

มาตรฐานของ ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) เพื่อจะผลิตข้าวโพดฝักอ่อนที่มีคุณภาพดี เกษตรกรจะต้องรู้มาตรฐานและคุณภาพของข้าวโพดฝักอ่อนที่ผู้ซื้อต้องการ

มาตรฐานข้าวโพดฝักอ่อน

ขนาดของ ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn)เพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรม จำแนกเป็น 3 เกรด คือ

  1. 9-13 ซม. (L)
  2. 7-9 ซม. (M)
  3. 4-7 ซม. (S)

ส่วนใหญ่โรงงานจะผลิตเกรด S, M มากกว่า L

คุณภาพ ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) ที่ต้องการ คือ
สีของฝัก มีสีเหลืองหรือครีม
ฝักสมบูรณ์ การเรียงของไข่ปลาตรง ไม่หัก เน่า หรือแก่เกินไป
ฝักไม่มีรอยกรีด ไม่มีเศษไหมติด
ฝักสด ไม่เหี่ยวแห้ง ไม่ผ่านการแช่น้ำ
ตัดขั้น และตัดแต่งระหว่างรอยขั้นกับฝักเรียบร้อย

การรักษาคุณภาพ ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn)หลังการเก็บเกี่ยว

  1. เมื่อเก็บฝักข้าวโพดฝักอ่อนแล้ว เกษตรกรควรรีบนำเข้าที่ร่ม หรือโรงเรือนที่มีการระบายอากาศที่ดี พยายามจัดวางให้ผลผลิต ได้ระบาย ความร้อน ไม่ควรเก็บข้าวโพดฝักอ่อนไว้เป็นกองสูง ๆ และไม่ควรทิ้งไว้หลายวัน ถ้าเป็นไปได้ ควรนำมาลอกเปลือกออก ทันทีหลังการเก็บเกี่ยว
  2. ในการขนส่งควรทำโดยเร็วที่สุด และไม่กองฝักข้าวโพดบนพื้นดิน หรือพื้นรถบรรทุกโดยตรง ควรใส่ในภาชนะ ข้าวโพดฝักอ่อน ที่ปอกเปลือกแล้ว ควรบรรจุในกล่องกระดาษ หรือตะกร้าพลาสติกที่มีรูระบายอากาศ
  3. การปอกเปลือกข้าวโพดอ่อน ต้องกรีดไม่ให้เกิดบาดแผล ลอกไหมให้เกลี้ยง เครื่องมือที่ใช้ เช่น มีด ภาชนะบรรจุ ต้องสะอาด
  4. ทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณเชื้อราตามที่ต่างๆ เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ มีด หรือภาชนะที่ใช้ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวถึงการบรรจุหีบห่อ และทำความสะอาดห้องเก็บรักษาในรูปของแก๊สหรือใช้สารละลายที่ฆ่าเชื้อโรคภายนอก เช่น ฟอร์มาดีไฮด์ อัตรา 1-2 เปอร์เซ็นต์ ในน้ำฉีดพ่นหรือใช้โซเดียวไฮโปคลอไรด์ เป็นต้น
  5. สำหรับผู้ส่งออก ควรลดอุณหภูมิข้าวโพดฝักอ่อนที่มาจากแปลงปลูกโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ วิธีที่นิยมใช้คือ การอัดลมเย็น (forced-air cooling) จะทำให้ลดการระบาดของการเน่า ลดการสูญเสียน้ำและความหวาน ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น
  6. อุณหภูมิที่ใช้ในระหว่างการเก็บเกี่ยว หรือระหว่างการขนส่ง คือ 5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95 เปอร์เซ็นต์
  7. การบรรจุหีบห่อที่เหมาะสม ไม่บรรจุมากเกินไปในกล่องเดียวกัน การเก็บรักษาในถาดโฟมที่หุ้มด้วยฟิล์ม PVC จะช่วยป้องกัน ผลผลิตให้คงมีคุณภาพดี

ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) กับข้อควรปฏิบัติ คือ หลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลหรือความชอกช้ำบนฝัก ซึ่งเริ่มตั้งแต่การปอกเปลือกตลอดจนการบรรจุหีบห่อ การขนส่งและการปฏิบัติ อื่น ๆ หลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการที่เชื้อราและบักเตรีบางชนิดเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น

ผลพลอยได้จากการผลิต ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) นอกจากนี้เกษตรกรยังจะมีรายได้จากการขายต้นข้าวโพด เปลือกและไหมและช่อดอกตัวผู้โดยสามารถนำ ไปใช้เลี้ยงวัวนม ได้เป็น อย่างดี ผู้เลี้ยงวัดนมจะรับซื้อต้นสดจากแปลงข้าวโพดที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวแล้วในราคาไร่ละ 300-400 บาท สำหรับช่อดอกตัวผู้ที่ ถอดทิ้ง ขายได้ในราคา 70-80 บาทต่อไร่ต่อครั้ง ต้นข้าวโพดสดและเปลือกมีคุณค่าทางอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนที่เป็นประโยชน์ ถึงร้อยละ 13.2 และมีเยื่อใย สูงถึงร้อยละ 34.8 ซึ่งคุณค่าทางอาหารดังกล่าวมีค่าใกล้เคียงกับคุณค่าทางอาหารที่ได้จากหญ้าขนสด และยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารของวัวทำงานดี

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

Published กุมภาพันธ์ 5, 2012 by 5a20001
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์   25897 ครั้งที่อ่าน
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์
ประมาณ 94 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตข้าวโพดใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ของประเทศ และมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี บางปีต้องมีการนำเข้า ปัจจุบันประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกเป็นข้าวโพดพันธุ์ลูกผสม ซึ่งให้ผลผลิตสูง

ปัญหาของพืช ข้อจำกัด และโอกาส 
• พื้นที่ปลูกมีแนวโน้มลดลง แต่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น
• ประสิทธิภาพการผลิตต่ำเนื่องมาจากฝนทิ้งช่วง ดินเสื่อม และการปนเปื้อนสารพิษอะฟลาทอกซินช่วงต้นฤดู
• มีการระบาดของโรคและแมลงในช่วงปลายฝน
• ผลผลิตกระจุกตัวในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม
• เมล็ดพันธุ์ดีของภาคเอกชนมีราคาแพง

พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ข้าวโพดพันธุ์ผสมเปิด
นครสวรรค์ 1
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : 11 กรกฏาคม 2532
ลักษณะทางการเกษตร :
1. ผลผลิตเฉลี่ยต้นฤดูฝน 786 กิโลกรัมต่อไร่
2. ผลผลิตเฉลี่ยปลายฤดูฝน 656 กิโลกรัมต่อไร่
3. อายุเก็บเกี่ยว 10-120 วัน
4. วันออกไหม 52 วัน
5. ความสูงของต้น 196 เซ็นติเมตร
6. ความสูงของฝัก 102 เซ็นติเมตร
7. ความกว้างของใบ 3.6 เซ็นติเมตร
8. ความยาวของใบ 88 เซ็นติเมตร
9. การเป็นโรคราน้ำค้าง 7.7 เปอร์เซ็นต์
10. จำนวนต้นล้ม 5.4 เปอร์เซ็นต์
11. การหุ้มของเปลือกฝัก (1-5) คือ 1.9
12. เปอร์เซ็นต์กระเทาะ 78.7%
13. สีของซังขาวปนแดง
14. สีและชนิดของเมล็ดส้มเหลืองกึ่งหัวแข็ง
ลักษณะดีเด่น :
1. ผลผลิตสูงทั้งในสภาพการปลูกต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน คือผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ SW1(MMS)C2F2 ประมาณ 10% และเมื่อปลูกในปลายฤดูฝนจะให้ผลผลิตสูงกว่าถึง 21%
2. จะมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมที่ แตกต่างกัน พื้นที่แนะนำสามารถใช้แนะนำให้เกษตรกรปลูกได้ตลอดปี ในเขตปลูกข้าวโพดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในการปลูกข้าวโพด ปลายฤดูฝนให้ได้ผลผลิตสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสารพิษ Aflatoxin ในข้าวโพดที่ปลูกต้นฤด

สุวรรณ 1
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : พ.ศ. 2518
ลักษณะเด่น :
ผลผลิตสูง ต้านทานโรคราน้ำค้าง
ผลผลิต :
ต้นฤดูฝน 717 กก./ไร่ ปลายฤดูฝน 543 กก./ไร่
ลักษณะประจำพันธุ์ :
ความสูงต้น 195 – 210 ซม.
อายุวันออกไหม 54-55 วัน
อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน
เมล็ดสีส้มเหลือง ชนิดหัวแข็งและซังมีสีขาว
ความต้านทานโรค :
ต้านทานโรคราน้ำค้างได้ดี
ฤดูปลูกที่เหมาะสม :
เดือนเมษายน-สิงหาคม

สุวรรณ 3 (มก.)
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : 9 ธันวาคม 2530
ลักษณะดีเด่น :
ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 ประมาณ 9% (1,017 กิโลกรัม/ไร่) ทนทานต่อโรคราน้ำค้าง มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้สูง และไม่มีข้อจำกัดในแหล่งปลูก ข้าวโพดที่ผ่านการทดสอบ ส่วนในท้องที่ ๆ ไม่การทดสอบมาก่อนอาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง
ลักษณะทางการเกษตร :
ลักษณะเมล็ดมีสีส้มเหลือง หัวแข็ง-กิ่งหัวแข็ง ส่วนลักษณะอื่นๆ ใกล้เคียงกับสุวรรณ 1 เช่น วันออกไหม ความสูงของต้นและฝัก จำนวนฝักต่อต้น ความชื้นเมล็ดขณะเก็บเกี่ยว เป็นต้น

สุวรรณ 5 (มก.) 
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : 19 เมษายน 2537
ลักษณะดีเด่น :
1. ให้ผลผลิตเมล็ดสูง เฉลี่ยอยู่ในช่วง 907-945 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 (7%) สุวรรณ 3 (4%) และพันธุ์นครสวรรค์ 1 (16%)
2. ให้ผลผลิตน้ำหนักต้นสดและน้ำหนักแห้งสูง เหมาะในการทำเป็นพืชอาหารสัตว์
3. สามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมทั่วไป
4. มีลักษณะทางการเกษตรอื่น ๆ ที่ดี เช่น มีระบบราก และลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย และต้านทานโรคราน้ำค้าง และ โรคทางใบอื่น ๆ ด้วย
5. เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดไว้ใช้ทำพันธุ์ได้นาน 1-3 ชั่ว โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของนักวิชาการ
ลักษณะทางการเกษตร :
1. ผลผลิตเฉลี่ย 907-945 กิโลกรัมต่อไร่
2. อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน
3. วันออกดอก 55 วัน
4. ความสูงของต้น 192 เซนติเมตร
5. ตำแหน่งความสูงของฝัก 109 เซนติเมตร
6. การเป็นโรคราน้ำค้าง 0.41 เปอร์เซ็นต์
7. ความแข็งแรงของระบบราก 2.0 (1= ดีที่สุด, 5= ดีน้อยที่สุด)
8. จำนวนต้นหักล้ม 0.6 เปอร์เซ็นต์
9. การหุ้มของเปลือกฝัก 1.2 เปอร์เซ็นต์
10. ความต้านทานโรคทางใบ 2.3 เปอร์เซ็นต์
11. สีของซังขาว
12. สีและชนิดของเมล็ด ส้ม เหลือง หัวแข็งถึงกึ่งหัวแข็ง

ข้าวโพดพันธุ์ลูกผสม
ซีพีดีเค 888 
• ความสูงต้นเฉลี่ย 210 ซม.
• ความสูงฝักเฉลี่ย 120 ซม.
• อายุออกไหม 58 วัน
• อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน
• ผลผลิต 1,000 กก./ไร่
• เปอร์เซนต์กะเทาะเมล็ดเฉลี่ย 81%
• การเป็นโรคราน้ำค้าง ไม่ต้านทาน
• การเป็นโรคราสนิม ไม่ต้านทาน

ไพโอเนียร์ 3013
• ความสูงต้นเฉลี่ย 200 ซม.
• ความสูงฝักเฉลี่ย 110 ซม.
• อายุออกไหม 54 วัน
• อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน
• ผลผลิต 1,100 กก./ไร่
• เปอร์เซนต์กะเทาะเมล็ดเฉลี่ย 81%
• การเป็นโรคราน้ำค้าง ไม่ต้านทาน
• การเป็นโรคราสนิม ไม่ต้านทาน

แปซิฟิค 983 
• ความสูงต้นเฉลี่ย 190 ซม.
• ความสูงฝักเฉลี่ย 100 ซม.
• อายุออกไหม 55 วัน
• อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน
• ผลผลิต 1,100 กก./ไร่
• เปอร์เซนต์กะเทาะเมล็ดเฉลี่ย 80%
• การเป็นโรคราน้ำค้าง ไม่ต้านทาน
• การเป็นโรคราสนิม ไม่ต้านท

คาร์กิล 919 
• ความสูงต้นเฉลี่ย 180 ซม.
• ความสูงฝักเฉลี่ย 100 ซม.
• อายุออกไหม 54 วัน
• อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน
• ผลผลิต 1,100 กก./ไร่
• เปอร์เซนต์กะเทาะเมล็ดเฉลี่ย 83%
• การเป็นโรคราน้ำค้าง ไม่ต้านทาน
• การเป็นโรคราสนิม ไม่ต้านทาน

เทพีวีนัส 49 
• ความสูงต้นเฉลี่ย 200 ซม.
• ความสูงฝักเฉลี่ย 100 ซม.
• อายุออกไหม 53 วัน
• อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน
• ผลผลิต 1,100 กก./ไร่
• เปอร์เซนต์กะเทาะเมล็ดเฉลี่ย 80%
• การเป็นโรคราน้ำค้าง ไม่ต้านทาน
• การเป็นโรคราสนิม ไม่ต้านทาน

นครสวรรค์ 72
• ความสูงต้นเฉลี่ย 210 ซม.
• ความสูงฝักเฉลี่ย 100 ซม.
• อายุออกไหม 56 วัน
• อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน
• ผลผลิต 1,000 กก./ไร่
• เปอร์เซนต์กะเทาะเมล็ดเฉลี่ย 79%
• การเป็นโรคราน้ำค้าง ต้านทาน
• การเป็นโรคราสนิม ต้านทานปานกลาง

สุวรรณ 3851
• ความสูงต้นเฉลี่ย 200 ซม.
• ความสูงฝักเฉลี่ย 110 ซม.
• อายุออกไหม 54 วัน
• อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน
• ผลผลิต 1,000 กก./ไร่
• เปอร์เซนต์กะเทาะเมล็ดเฉลี่ย 79%
• การเป็นโรคราน้ำค้าง ต้านทาน
• การเป็นโรคราสนิม ต้านทาน

สุวรรณ 5
• ความสูงต้นเฉลี่ย 220 ซม.
• ความสูงฝักเฉลี่ย 110 ซม.
• อายุออกไหม 54 วัน
• อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน
• ผลผลิต 800 กก./ไร่
• เปอร์เซนต์กะเทาะเมล็ดเฉลี่ย 78%
• การเป็นโรคราน้ำค้าง ต้านทาน
• การเป็นโรคราสนิม ต้านทาน

นครสวรรค์ 2
เป็นพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร
• ความสูงต้นเฉลี่ย 220 ซม.
• ความสูงฝักเฉลี่ย 125 ซม.
• อายุออกไหม 55 วัน
• อายุเก็บเกี่ยว 100-120 วัน
• ผลผลิต 1,300 กก./ไร่
• เปอร์เซนต์กะเทาะเมล็ดเฉลี่ย 80%
• ต้านทานโรคราน้ำค้าง

นครสวรรค์ 72
• มีอายุถึงวันออกดอกตัวผู้และตัวเมียใกล้เคียงกัน
• อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน
• ผลผลิต 913 กก./ไร่
• ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม 300-400 กก./ไร่
• ต้านทานโรคราน้ำค้าง

ข้าวโพดพันธุ์แท้
พันธุ์แท้นครสวรรค์ 1
ประเภทพันธุ์ : ขึ้นทะเบียน
วันที่รับรอง : 2 กุมภาพันธ์ 2543
ลักษณะดีเด่น :
1. ให้ผลผลิต 610 กิโลกรัมต่อไร่
2. มีความต้านทานโรคราน้ำค้าง

พันธุ์แท้นครสวรรค์ 2 
ประเภทพันธุ์ : ขึ้นทะเบียน
วันที่รับรอง : 2 กุมภาพันธ์ 2543
ลักษณะดีเด่น :
1. ให้ผลผลิต 343 กิโลกรัมต่อไร่
2. มีความต้านทานโรคราน้ำค้าง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
• ความสูงจากระดับน้ำทะเล ไม่เกิน 1,000 เมตร
• ความลาดเอียงไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์
• ดินร่วน ดินร่วนเหนียว ดินร่วนทราย หรือดินเหนียว
• ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่า 1.0 เปอร์เซ็นต์ • มีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ไม่น้อยกว่า 60 ส่วนในล้านส่วน
• การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี
• ระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร
• ค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 5.5-7.0
• อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตประมาณ 25-35 องศาเซลเซียส
• ปริมาณน้ำฝนกระจายสม่ำเสมอ 1,000-1,200 มิลลิเมตรต่อปี

การปลูก

ฤดูปลูก
ต้นฤดูฝน เดือนเมษายน-พฤษภาคม
ปลายฤดูฝนเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

การเตรียมดิน
• ไถด้วยผาลสาม 1 ครั้ง ลึก 20-30 เซนติเมตร ตากดิน 7-10 วัน พรวนด้วยผาลเจ็ด 1 ครั้ง ปรับระดับดินให้สม่ำเสมอ แล้วคราดเก็บ เศษซากราก เหง้า หัวและไหลของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลง
• วิเคราะห์ดินก่อนปลูก
ถ้าดินมีความเป็นกรดด่างต่ำกว่า 5.5 ก่อนเตรียมดิน ควรหว่านปูนขาว อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับดินร่วนทราย และอัตรา 200-400 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับดินร่วน ดินร่วนเหนียว หรือดินเหนียว แล้วไถกลบ
ถ้าดินมีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.0 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเตรียมดินให้หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว อัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับดินเหนียวและดินร่วนเหนียว และอัตรา 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับดินร่วนและดินร่วนทราย หรือหว่านพืชบำรุงดิน เช่น ถั่วเขียว อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ ถั่วแปบ อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถกลบในระยะเริ่มติดฝักหรือหลังเก็บเกี่ยวพืชบำรุงดิน

วิธีการปลูก

ปลูกด้วยแรงงาน
• ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 25 เซนติเมตร อัตราปลูก 8,500 ต้นต่อไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4 กิโลกรัมต่อไร่
ใช้จอบขุดเป็นหลุม หรือรถไถเดินตามหรือแทรกเตอร์ติดหัวเปิดร่อง หยอดเมล็ดหลุมละ 1-2 เมล็ด กลบดินให้แน่น
• เมื่อข้าวโพดอายุประมาณ 14 วันหลังงอก ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น
ปลูกด้วยเครื่องปลูก
• ใช้รถแทรกเตอร์ลากจูงเครื่องปลูกพร้อมใส่ปุ๋ยติดท้าย ปรับให้มีระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร จำนวน 1 ต้นต่อหลุม หรืออัตราปลูกประมาณ 10,600 ต้นต่อไร่ ใช้เมล็ด 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ โดยไม่ถอนแยก

การให้ปุ๋ย
• ดินเหนียวสีดำ ถ้ามีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์สูงกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน ถ้าฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่ำกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 20-20-0 อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 16-20-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นร่องพร้อมปลูก และให้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 21-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน แล้วพรวนดินกลบ
• ดินเหนียวสีแดง ดินเหนียวสีน้ำตาล หรือดินร่วนเหนียวสีน้ำตาล ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 หรือ 16-16-8 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นร่องพร้อมปลูก และให้ปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน แล้วพรวนดินกลบ
• ดินร่วน หรือดินร่วนทราย ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 หรือสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นร่องพร้อมปลูก และปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน แล้วพรวนดินกลบ

โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด 

โรคราน้ำค้าง หรือโรคใบลาย 
• ระบาดรุนแรงในระยะต้นอ่อนถึงอายุประมาณ 1 เดือน ทำให้ยอดมีข้อ ต้นแคระแกร็น ใบเป็นทางสีขาว เขียวอ่อน หรือเหลืองอ่อน ไปตามความยาวของใบ
• พบผงสปอร์สีขาวเป็นจำนวนมากบริเวณใต้ใบในเวลาเช้ามืดที่มีความชื้นสูง ถ้าระบาดรุนแรงต้นจะแห้งตาย แต่ถ้าต้นอยูรอดจะไม่ออกฝักหรือติดฝักแต่ไม่มีเมล็ด
• ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วย เมตาแลกซิล อัตรา 7 กรัม/เมล็ด 1 กก.

โรคราสนิม 
• เกิดได้แทบทุกส่วนของต้นข้าวโพด ระยะแรกพบจุดนูน สีน้ำตาลแดง ขนาด 0.2-1.3 มิลลิเมตร ต่อมาแผลจะแตกเห็นเป็นผงสีสนิม ถ้าระบาดรุนแรงจะทำให้ใบแห้งตาย
• ในแหล่งที่มีโรคระบาดให้ปลูกพันธุ์ต้านทาน ได้แก่ นครสวรรค์ 72 สุวรรณ 3851 หรือสุวรรณ 5
• หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว ซึ่งอ่อนแอต่อโรค และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

แมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด เจาะเข้าทำลายส่วนยอดช่อดอกตัวผู้ และลำต้น ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต หักล้มง่าย เมื่อมีการระบาดรุนแรงจะเข้าทำลายฝัก พบการทำลายในแหล่งปลูกทั่วไป
การป้องกันกำจัด: พ่นสารไซเพอร์เมทริน (15% อีซี)10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตรและไตรฟลูมูรอน(25% ดับบลิวพี) 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

หนอนกระทู้หอม กัดกินทุกส่วนในระยะต้นอ่อน จะทำความเสียหายรุนแรงเมื่อหนอนมีความยาวตั้งแต่ 2 เซนติเมตร หากจำเป็นให้พ่นสารนิวเคลียร์โพลีฮีโดรซิสไวรัส 20-30 มล./น้ำ 20 ลิตร และเบตาไซฟลูทริน(2.5% อีซี) 40 มล./น้ำ 20 ลิตร

มอดดิน กัดกินใบตั้งแต่เริ่มงอกถึงอายุประมาณ 14 วัน ทำให้ต้นอ่อนตาย หรือชะงักการเจริญเติบโต ต้นที่รอดตายจะเก็บเกี่ยวได้ล่าช้า ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วย อิมิดาโคลพริด (70% ดับบลิวเอส) 5 กรัม/เมล็ด 1 กก./น้ำ 20 ลิตร

สัตว์ศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

หนู ทำลายตั้งแต่เริ่มเป็นฝักอ่อนจนถึงเก็บเกี่ยว สกุลหนูพุกกัดโคนต้นให้ล้มแล้วกัดกินฝัก สกุลหนูท้องขาว ได้แก่ หนูบ้านท้องขาว หนูนาใหญ่ หนูนาเล็ก และสกุลหนูหริ่งปีนกัดแทะฝักบนต้น การป้องกันกำจัด: หากทำความเสียหายอย่างรุนแรงให้ใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือ ใช้กรงดักหรือกับดัก ร่วมกับการใช้เหยื่อพิษ

วัชพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
• ไถ 1 ครั้ง ตากดิน 7-10 วัน พรวน 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัวและไหล ของวัชพืชข้ามปี ออกจากแปลง
• กำจัดวัชพืชระหว่างแถวปลูกด้วยแรงงานหรือเครื่องจักรกล เมื่อข้าวโพดอายุ 20 – 25 วัน ก่อนให้ปุ๋ย
• ในกรณีที่กำจัดวัชพืชด้วยแรงงานหรือเครื่องจักรกลไม่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ ควรใช้สารกำจัดวัชพืช

การเก็บเกี่ยว
• เก็บเกี่ยวเมื่อข้าวโพดแก่จัด หรือแห้งหมดทั้งแปลงแล้ว 7 วัน เมล็ดจะมีความชื้นประมาณ 23 เปอร์เซ็นต์
• ถ้าต้องการใช้พื้นที่ปลูกพืชอื่นตามข้าวโพด ควรเก็บเกี่ยวเมื่อใบข้าวโพด เปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวทั้งแปลง เมล็ดจะมีความชื้นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์
• ไม่ควรเก็บเกี่ยวข้าวโพดหลังฝนตก เพราะเมล็ดจะมีความชื้นสูง
ควรปล่อยให้ฝักและต้นข้าวโพดแห้งก่อน

วิธีการเก็บเกี่ยว
• ใช้ไม้หรือเหล็กแหลมแทงปลายฝัก ปอกเปลือก แล้วหักฝักข้าวโพด ใส่กระสอบ นำไปเทกองรวมไว้ในยุ้งฉาง หรือ ใช้เครื่องเก็บเกี่ยว
แบบปลิดฝักต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาด 60-80 แรงม้า เครื่องจะปลิดและรูดเปลือกหุ้มฝักข้าวโพดออก บรรจุกระสอบโดยอัตโนมัติ หรือใช้เครื่องเก็บเกี่ยวแบบเกี่ยวนวดอัตโนมัติ เครื่องจะเก็บรูดฝักข้าวโพด กะเทาะ และทำความสะอาดคัดแยกเมล็ดดีเก็บในถังจนเต็ม นำใส ่รถบรรทุกส่งขายพ่อค้า

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
ระดับเกษตรกร
• ตากฝักข้าวโพดบนลานซีเมนต์ที่แห้งและสะอาด มีแสงแดดจัด 2-3 วัน เพื่อให้ฝักข้าวโพดมีความชื้นในเมล็ดต่ำกว่า 23 เปอร์เซ็นต์
• ฝักข้าวโพดที่มีความชื้นในเมล็ดต่ำกว่า 23 เปอร์เซ็นต์ จะปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน หรือพบในปริมาณน้อยกว่า 50 ส่วนในพันล้านส่วน(ระดับที่พระราชบัญญัติ ควบคุมอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 กำหนดให้เมล็ดข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มีปริมาณสารอะฟลาทอกซินได้ ไม่เกิน 100 ส่วนในพันล้านส่วน)
• ควรเก็บฝักข้าวโพดไว้ในยุ้งฉางที่มีหลังคาและถ่ายเทอากาศได้ดี
ระดับพ่อค้าท้องถิ่น
• ควรกะเทาะฝักข้าวโพดที่มีความชื้นในเมล็ดต่ำกว่า 26 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเครื่องกะเทาะที่มีความเร็วรอบ 8 – 12 รอบต่อวินาที
• หลังการกะเทาะแล้ว ต้องลดความชื้นเมล็ดข้าวโพดให้เหลือประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยการตากเมล็ดบนลานซีเมนต์ที่แห้งและสะอาด มีแสงแดดจัด 1-2 วัน และควรทำการกลับเมล็ดทุกครึ่งชั่วโมง
• หากไม่สามารถลดความชื้นของเมล็ดข้าวโพดให้อยู่ในระดับ 15 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากฝนตก และเมล็ดข้าวโพดมีความชื้นอยู่ระหว่าง 18-30 เปอร์เซ็นต์ จะสามารถชะลอการเน่าเสียและการปนเปื้อนของสาร อะฟลาทอกซินได้ประมาณ 10 วัน โดยต้องปฏิบัติ ดังนี้
– นำเมล็ดข้าวโพดมากองไว้ในที่ร่ม และใช้ผ้าพลาสติกใส หนา 0.1 มิลลิเมตร คลุมและทับชายพลาสติกรอบกอง ด้วยถุงทรายหรือ ม้วนกระสอบป่าน แล้วรมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อัตรา 0.5 กิโลกรัมต่อเมล็ด 1,000 กิโลกรัม หรือใช้เครื่องดูดฝุ่นหรือเครื่องดูดอากาศ ดูดอากาศจากภายในกองออก แล้วรมด้วยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ อัตรา 0.3 กิโลกรัมต่อเมล็ด 1,000 กิโลกรัม
– หลังจากนั้นต้องนำเมล็ดข้าวโพดไปลดความชื้นให้เหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 1-2 วัน

การขนส่ง
• บรรจุเมล็ดข้าวโพดในกระสอบป่านที่สะอาด เย็บปากถุงด้วยเชือกฟาง
• รถบรรทุกต้องสะอาดและเหมาะสมกับปริมาณข้าวโพด
• ไม่ควรเป็นรถที่ใช้บรรทุกดินหรือสัตว์ มูลสัตว์ ปุ๋ยเคมี หรือสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพราะอาจจะมีการปนเปื้อนของ เชื้อโรคและสารเคมี ยกเว้นจะมีการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม ก่อนนำมาบรรทุกข้าวโพด
• กรณีขนส่งเมล็ดข้าวโพดในฤดูฝน ต้องมีผ้าใบคลุม เพื่อป้องกันไม่ให้ เมล็ดข้าวโพดดูดความชื้นจากภายนอก ซึ่งจะทำให้เกิดเชื้อราและมีการ ปนเปื้อนสารพิษอะฟลาทอกซินได้ง่าย

การแปรรูป

• สบู่ขัดผิวข้าวโพด
เมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตได้ นอกจากจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้ว เกษตรกรยังสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเสริมรายได้ให้แก่ ครอบครัวได้โดยตรง เช่น การนำข้าวโพดมาทำเป็นสบู่ขัดผิว ในปัจจุบัน กระแสของผู้บริโภคที่กลับมานิยมใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้เล็งเห็นความเป็นไปได้ในการนำเมล็ดข้าวโพด เลี้ยงสัตว์มาแปรรูปเป็นส่วนผสมในการทำสบู่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่เป็นที่ รู้จักแพร่หลายภายในประเทศ
จึงเป็นโอกาสดีในการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แปลกแตกต่างไปจากสบู่ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด รวมทั้งยังเป็นการใช้วัตถุดิบข้าวโพดที่มีอยู่ย่างมากมายให้เกิดประโยชน์อีกด้วย
สบู่ข้าวโพดได้จากการทำปฏิกิริยาระหว่างน้ำมันพืชกับน้ำด่างโซดาไฟ ผลของปฏิกิริยานอกจากจะได้สบู่แล้วยังเกิดกลีเซอรีนซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น และมีส่วนผสมที่สำคัญคือเมล็ดข้าวโพดที่บดละเอียด ผสมลงไปในเนื้อสบู่ในอัตราที่เหมาะสมทำให้สบู่มีเนื้อสากขึ้น มีคุณสมบัติใน การขัดผิว กำจัดสิ่งอุดตันรูขุมขน ดูดซับความมันเหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวมัน สำหรับสูตรที่ได้คิดค้นนี้ยังได้ผสมงาบด ซึ่งเมล็ดงามีวิตามินอีช่วยชะลอ ผิวเหี่ยวย่น นอกจากนี้ยังได้เพิ่มกลีเซอรีนและวิตามินอีเพื่อให้ความชุ่มชื้น และถนอมผิวมากยิ่งขึ้น
สบู่ข้าวโพดสามารถทำได้ในครัวเรือน เป็นสบู่ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ แตกต่างจากสบู่ที่จำหน่ายในท้องตลาดซึ่งผลิตในระบบอุตสาหกรรมไม่มีการใส่สารเพิ่มฟอง สี หรือสารกันบูด ที่อาจระคายเคืองต่อผิว จึงเหมาะสำหรับผุ้ที่มักมีผิวแพ้ง่าย และจะใส่เฉพาะสารเคมีบางชนิดที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ น้ำหอม เนื่องจากผุ้ใช้ โดยทั่วไปมักติดในกลิ่นของสบู่ที่จะต้องหอม แต่สบู่ที่ไดจากปฏิกิริยา โดยตรงนั้นจะมีกลิ่นเฉพาะตัวที่ผู้ใช้ทั่วไปมักไม่ชอบ อย่างไรก็ตามจะเห็น ได้ว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นวัตถุดิบธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ การใช้สบู่ชนิดนี้ จึงเท่ากับเป็นการรักษาสภาพแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี ใช้ทรัพยากร ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตอีกด้วย